รู้จักเรา

เดอะมนต์รักแม่กลอง

สื่อชุมชนเพื่อสังคมอุดมคติ

ปี พ.ศ.2551 มนต์รักแม่กลองเปิดตัวครั้งแรกในรูปแบบนิตยสาร รูปเล่มกระทัดรัด พิมพ์สีเดียวบนกระดาษปรู๊ฟเนื้อหยาบ น้ำหนักเบา เราถ่อมเนื้อถ่อมตัวบนแผงหนังสือ แต่ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งทั้งทางกาย วาจา และใจจากนักอ่าน

หลังจากตีพิมพ์ได้ 10  ฉบับ ผ่านความกระท่อนกระแท่นมาหลายครั้งหลายหน ในปี พ.ศ.2558 เราจำต้องประกาศขอหยุดการผลิตหนังสือชั่วคราว ทำการคืนเงินสมาชิก ลงด้ายด้วยข้อความคล้ายคำสัญญาว่า “จนกว่าจะพบกันใหม่”

ปี พ.ศ.2562 มนต์รักแม่กลองกลับมาอีกครั้ง จากที่เคยเป็นนิตยสารสื่อสิ่งพิมพ์ เราขยับรูปแบบให้หลากหลายยิ่งขึ้น ลงตัวและสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เลือกแล้วของทีมงาน อิสระและเบาสบายในวิธีการ แต่ดำรงความมุ่งหมายชัดเจนเหนืออื่นใด

เดอะมนต์รักแม่กลอง คือการนำความรู้ ความรัก และความคิดในแนวทางท้องถิ่นนิยมมานำเสนอสู่สังคม เราเชื่อว่าสังคมที่เข้มแข็ง เจริญพัฒนา และอยู่เย็นเป็นสุข ต้องมาจากการมีท้องถิ่นที่เข้มแข็ง เจริญพัฒนา และอยู่เย็นเป็นสุข

ไม่ใช่การรักบ้านเกิดเมืองนอนอย่างหัวปักหัวปำ แต่คือกระบวนทัศน์แห่งการเข้าใจและเข้าถึงคุณค่าแท้ จิตวิญญาณพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ทำให้เราอยู่มาจนมีวันนี้ และจะมีอนาคตต่อไปให้ลูกหลาน

เดอะมนต์รักแม่กลอง จะเป็นทั้งสื่อสารมวลชนในรูปแบบต่างๆ และเป็น “เดอะมนต์รักแม่กลองช็อป” ร้านโชห่วยชุมชนจำหน่ายสินค้าจากทรัพยากรท้องถิ่นสมุทรสงคราม นำความเป็นแม่กลองไปสื่อกับผู้บริโภคถึงในครัวเรือน อีกทั้งยังเป็นกิจการระดมทุนเพื่อให้เดอะมนต์รักแม่กลองพึ่งตนเองได้และทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้

ผู้ก่อการ เดอะมนต์รักแม่กลอง :

นิสา คงศรี

ลูกหลานแม่กลองที่จากบ้านเกิดไปอยู่เมืองใหญ่ ร่ำเรียน ทำงานในแวดวงโฆษณาและเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี ร่วม 30 ปี จนกระทั่งจังหวะชีวิตดลบันดาลให้นกได้กลับรัง คนได้กลับบ้าน กลับมาหัดขึ้นตาลทำน้ำตาลมะพร้าวแท้ในยี่ห้อ “เรียมอรุณ” พร้อมกับแบ่งบทบาทมาเป็นโปรดิวเซอร์ของเดอะมนต์รักแม่กลอง

ภัทรพร อภิชิต

อดีตคนทำงานสื่อสารมวลชน ซึ่งได้ใช้ความรู้ในวิชาชีพมารับใช้ฝากเนื้อฝากตัวกับบ้านเมืองแม่กลอง จากคนแปลกหน้ากลายมาเป็นลงหลักปักฐาน ใช้ชีวิตในดินแดนเงียบสงบที่ตั้งชื่อว่า “หนูโจอาร์ตแอนด์ฟาร์ม” ตำบลแพรกหนามแดง ยังคงผลิตหนังสือและสื่อต่างๆ เกี่ยวกับสมุทรสงครามด้วยความรู้สึกตื่นเต้นเสมอ

วีรวุฒิ กังวานนวกุล

ศิลปินหนุ่มจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ที่โชคชะตานำพาให้มาอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ได้ร่วมประวัติศาสตร์ยุคก่อตั้งตลาดน้ำอัมพวา ใช้ความสามารถในการถ่ายรูปและทำงานศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงการสร้างสังคมอุดมคติ ทั้งในบทบาทของมนต์รักแม่กลองและเจ้าของหนูโจอาร์ตแอนด์ฟาร์มร่วมกับคู่ชีวิต

กึกก้อง เสือดี

ผู้กำลังเคี่ยวกรำกับการทำปริญญาเอก ในฐานะสถาปนิกที่หลงใหลในคุณค่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น นักแสวงหาความรู้เพื่อทำความเข้าใจในบ้านเกิดเมืองนอนของตนให้ถึงแก่น และเด็กแม่กลองที่ศรัทธาในภูมิปัญญาวิชาสร้างบ้านแปงเมืองอย่างลึกซึ้ง เขาจึงเป็นฝ่ายข้อมูลคนสำคัญของเมืองนี้ชนิดที่หาตัวจับยาก เขาจึงเป็นฝ่ายข้อมูลคนสำคัญของเมืองนี้ชนิดที่หาตัวจับยาก